ReadyPlanet.com
dot dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot


แสนสุขวิล่าปูดำ
HONDA CIVIC 2016
HONDA CITY ALL NEW 2016
PAJERO SPORT 2.4 GLS
VOLVO  XC70  2.3AT 20valve


"สึนามิ" เกิดได้อย่างไร? article

*******

"สึนามิ"(Tsunami) หรือคลื่นยักษ์ เกิดจากการสมาสของคำในภาษาญี่ปุ่นระหว่างคำว่า "สึ" (Tsu) ซึ่งแปลว่า ท่าเรือ และคำว่า "นามิ" (Nami) แปลว่า คลื่น รวมแล้วแปลได้ว่า คลื่นที่เข้าสู่ฝั่งหรือท่าเรือ ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษว่า Harbor Wave เหตุที่เรียกว่า Harbor Wave ก็เพราะเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่ระดับน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง ความเร็วของคลื่นจะลดลง แต่พลังของคลื่น จะดันให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดคลื่นสูงมหาศาล ยิ่งหากคลื่นเข้าปะทะชายฝั่งที่มีรูปร่างคล้ายตัววี (V) ความเร็วและความแรงของคลื่นจะยิ่งเพิ่มขึ้น และส่งให้ยอดคลื่นมีความสูงมากขึ้น จนสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิต และทรัพย์สินที่อยู่รอบชายฝั่ง

คลื่น "สึนามิ" ต่างจากคลื่นตามปกติทั่วไปที่เราเห็นตามชายหาด (Tidal Wave) โดยคลื่นทั่วไปจะเกิดจาก การขึ้น-ลงของกระแสน้ำ บวกด้วยแรงลมที่พัดบนผิวน้ำ แต่คลื่นสึนามิ ไม่เกี่ยวกับกระแสน้ำและไม่เกี่ยวกับสภาวะอากาศเลย หากแต่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร หรือบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล เมื่อแผ่นดินเกิดรอยแยก น้ำทะเลจะถูกดูดเข้าไประหว่างรอยแยกที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นแรงอัดใต้เปลือกโลกจะดันน้ำทะเลขึ้นมา กลายเป็นระลอกคลื่นใหญ่

คลื่นยักษ์ยังเกิดขึ้นได้อีกจากการที่ภูเขาไฟใต้มหาสมุทรเกิดระเบิด การทดลองระเบิดปรมาณูในมหาสมุทร หรือมีวัตถุขนาดใหญ่เช่นดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาตตกลงในมหาสมุทร ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาในมหาสมุทร จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์ได้ แต่กรณีหลังมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

"สึนามิ" มีความยาวของคลื่นถึงราว 80-200 กิโลเมตร ทำให้เรือที่แล่นอยู่ในทะเล ไม่รู้ว่าเกิดคลื่นยักษ์ขึ้น แต่ละลูกจะทิ้งช่วงห่างกันมากกว่า 15 นาที เคลื่อนที่ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ยประมาณ 700-1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คลื่นยักษ์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะเป็นแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟใต้มหาสมุทรมาก อีกทั้งยังล้อมรอบด้วยร่องน้ำลึกก้นมหาสมุทร ที่เกิดจากแผ่นดินโลกมุดตัว จุดเกิดคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่บริเวณร่องน้ำลึกก้นมหาสมุทรนอกชายฝั่งอลาสกา หมู่เกาะคูริล ทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะแปซิฟิกตอนกลางและรัสเซีย ประมาณว่าร้อยละ 80 ของคลื่นยักษ์ที่เกิดทั้งหมดอยู่บริเวณ Pacific Seismic Belt ส่วนพื้นที่ที่เกิดคลื่นยักษ์บ่อยครั้ง คือ หมู่เกาะฮาวาย (เกิดขึ้นทุกปี)

จุดอื่นที่เกิดความเสี่ยงจากสึนามิ ก็อย่างเช่นหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน

คลื่นยักษ์มีแรงปะทะสูง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดจากคลื่นยักษ์ครั้งร้ายแรง เช่น เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2537 แผ่นดินไหวที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย วัดได้ 7.2-7.8 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน หรือเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2541 เกิดแผ่นดินไหววัดได้ 7.1 ริกเตอร์ ที่ปาปัวนิวกินี จากนั้นได้เกิดคลื่นยักษ์ตามมา จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน

เพื่อป้องกันความเสียหายจากคลื่นยักษ์ จึงมีการตั้งศูนย์เตือนภัยคลื่นยักษ์ขึ้นคือ ศูนย์เตือนภัยสึนามิอลาสกา(ATWC) ตั้งอยู่ที่อลาสก้า รับผิดชอบพื้นที่อลาสก้า บริติช โคลัมเบีย วอชิงตัน โอเรกอน และแคลิฟอร์เนีย และศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก รับผิดชอบพื้นที่ฮาวายและแปซิฟิก

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เคยกล่าวเอาไว้ เกี่ยวกับแนวโน้มที่สึนามิ จะเกิดในประเทศไทยไว้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2541 หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในปาปัวนิวกินีว่า จากการวิเคราะห์เบื้องต้น (ของนักวิชาการด้านแผ่นดินไหว) สึนามิอาจเกิดขึ้นในทะเลอันดามันตอนบน และมีผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลทิศตะวันตกของไทย โดยอาจเกิดขึ้นได้ในจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาแล้ว 2-3 จุด ในทะเลอันดามัน ทั้งนี้ในอดีตมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหว ทิ้งระยะห่างหลายสิบปี คล้ายคลึงกับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศปาปัวนิวกินี

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมยัง พบว่า มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่คือรอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุม ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่านแผ่นดินและเทือกเขาตะนาวศรี ลงไปในทะเลอันดามันทางทิศตะวันตกของชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งแนวรอยเลื่อนที่อยู่ในทะเลมีระยะใกล้กับฝั่งทะเลไทยเป็นอย่างมาก ถ้ามีการเกิดแผ่นดินไหว ในรอยเลื่อนใหญ่สองรอยเลื่อนนี้ มีขนาดรุนแรงเกิน 6.2 ริกเตอร์ ก็จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ พัดเข้าหาชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของไทยได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้

 

การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และคลื่นมหันตภัยสึนามิ

โดย วรวิทย์ ชีวาพร และพิชาญ สว่างวงศ์ กลุ่มสาขาวิชาสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
E mail : voravit@buu.ac.th
มติชน 11 มค.48

Alfred Wegener นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก โดยเดิมทีเปลือกโลกเกาะกันเป็นแผ่นเดียวกัน เรียกว่า "Pangaea" ประมาณ 200 ล้านปีมานี้

มวลของเปลือกโลกเริ่มแยกออกจากกันเป็นชิ้นๆ เคลื่อนที่ไปตามกระแสหมุนเวียนของของหลอมเหลวใต้พื้นผิวโลก จนมีรูปร่างของพื้นทวีปดังที่เห็นในปัจจุบัน

อัตราการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกค่อนข้างช้าประมาณ 2-3 เซนติเมตรต่อปี ทิศทางการเคลื่อนตัวขึ้น อยู่กับกระแสการไหลเวียนของของหลอมเหลวใต้พื้นผิวโลก

การเคลื่อนตัวนี้ทำให้เปลือกโลกบางส่วนเคลื่อนตัวออกจากกัน เช่น ตรงบริเวณกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้มหาสมุทรแอตแลนติกมีขนาดกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่เปลือกโลกบางส่วนเคลื่อนตัวเข้าหากัน และเกิดการปะทะกัน ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน เป็นลักษณะของการเกิดแผ่นดินไหวอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดการเคลื่อนตัวในลักษณะที่เรียกว่า "convergent plate" คือแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง จะมุดตัวจมลงใต้อีกแผ่นหนึ่ง

แผ่นที่มุดตัวลงอาจดันให้แผ่นบนลอยตัวขึ้น เกิดการสั่นสะเทือนของเปลือกโลก หรือจะดันให้ปลายของอีกแผ่นเกิดการโค้งงอ เป็นการสะสมพลังงาน และดีดตัวขึ้นเป็นแผ่นดินไหว

ลักษณะการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกดังกล่าวเราเรียกว่า "Plate tectonic"

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลาประมาณ 07:58:53 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่วัดได้ 9.0 ริกเตอร์ ที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อน ระหว่างเปลือกโลก Indopacific plate (ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย) ต่อกับ Eurosian plate (ฝั่งทะเลอันดามัน) เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ จากคลื่นสึนามิ ในเวลาต่อมา

ขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น นับเป็นขนาดใหญ่สุดอันดับที่ 4 นับจากปี ค.ศ.1900 คลื่นยักษ์ได้คร่าชีวิตผู้คนรอบฝั่งทะเลมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ประเทศไทย โซมาเลีย และประเทศอื่นๆ ไปจำนวนหลายหมื่นคน และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิต อาจพุ่งสูงถึงแสนคน

นับเป็นมหาวิบัติภัยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติมนุษยชาติ

ในระยะแรกของการเกิดภัยพิบัติ หน่วยงานทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา(US Geological Survey) ได้ตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหวได้ที่ 8.1 ริกเตอร์ แต่หลังจากการวิเคราะห์ในเวลาต่อมา ได้เพิ่มขนาดความรุนแรงของการไหวเป็นที่ 8.5 และ 9.0 ริกเตอร์ในท้ายที่สุด

จุดศูนย์กลางการไหวพบอยู่ที่ 3.298 ํN, 95.779 ํE ประมาณ 160 กิโลเมตร จากทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา รู้สึกการสั่นสะเทือนได้ ถึงบังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ ไทย และมัลดีฟส์

การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ผิดปกติ เนื่องจากกินอาณาบริเวณกว้างขวาง ตลอดรอยเลื่อนยาว 1,200 กิโลเมตร ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเปลือกโลกแผ่น Indopacific plate ที่มุดตัวลงใต้แผ่นเปลือกโลก Eurosian plate

เมื่อแผ่น Indopacific plate เลื่อนตัวมุดลงไปตามกระแสการไหลเวียนของหินหลอมเหลวใต้เปลือกโลก ก็จะฉุดปลายของแผ่น Eurosian plate ให้โค้งงอตามลงไปด้วย เป็นการสะสมพลังงานในแผ่น Eurosian plate

เมื่อการสะสมพลังงานถึงระดับหนึ่ง ปลายของแผ่น Eurosian plate ก็จะดีดตัวขึ้นเหมือนแผ่นสปริง เกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นแผ่นดินไหว และดันมวลน้ำที่อยู่เหนือขึ้นไปให้โป่งขึ้นเป็นคลื่นยักษ์

และทางซีกขวามือของคลื่นยักษ์นี้ จะเกิดร่องน้ำลึกต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปกติมาก เนื่องจากมวลน้ำบริเวณที่เป็นร่องน้ำนี้ ถูกดันขึ้นไปเป็นคลื่นยักษ์ ขั้นต่อมาคลื่นยักษ์นี้ จะลดระดับความสูงลง และแตกออกเป็นคลื่นย่อมลงมา 2 ลูก เคลื่อนตัวออกจากกันในลักษณะเป็นวงรี ห่างจากแนวรอยเลื่อน ตั้งแต่บริเวณหัวเกาะสุมาตรา เกาะนิโคบาร์ และหมู่เกาะอันดามัน

คลื่นลูกหนึ่งจะเคลื่อนที่ไปทางซ้ายมือ (ทิศตะวันตก) เข้าหาชายฝั่งประเทศศรีลังกา และอินเดีย ส่วนคลื่นอีกลูกจะเคลื่อนที่เข้าหาชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย

ดังนั้น ชายฝั่งของศรีลังกา อินเดีย และไทย จึงรับกับการโถมตัวของคลื่นยักษ์สึนามิอย่างเต็มๆ ขณะที่ บังกลาเทศ พม่า มาเลเซีย ได้รับผลน้อยกว่าชนิดเฉียดๆ

คลื่นยักษ์ลูกที่เคลื่อนตัวมาทางชายฝั่งอันดามันของไทยนี้ จะมีร่องน้ำลึกอยู่ทางขวามือของคลื่น เมื่อเข้าใกล้ชายฝั่งร่องน้ำลึกนี้ จะดูดน้ำทะเลชายฝั่งเข้าหาคลื่นยักษ์ ก่อนที่จะถาโถมเข้าหาชายฝั่ง

จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ เราเห็นน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อนคลื่นยักษ์โถมเข้าหาชายฝั่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างของการโถมเข้าหาชายฝั่ง ของคลื่นยักษ์ในซีกตะวันตกฝั่งประเทศศรีลังกาและอินเดีย คลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดสูงประมาณ 10 เมตร และกวาดเอาสิ่งก่อสร้างบ้านเรือนบริเวณชายฝั่ง ลงสู่ทะเลราบเป็นหน้ากลอง

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า หลังปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ พื้นท้องทะเลของแผ่นเปลือกโลก Eurosian plate จะถูกยกขึ้นประมาณ 10 เมตร เหนือแผ่น Indopacific plate และปรากฏการณ์ครั้งนี้ เกิดจากการขยับตัวของเปลือกโลกตลอดแนวยาวของรอยเลื่อน ทำให้กิดแผ่นดินไหวเป็นอาณาบริเวณกว้าง ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง ตลอดแนวตั้งแต่เกาะสุมาตรา เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอันดามัน จนถึงพม่า เป็นระยะๆ

การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดหลังจากแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์ บริเวณตะวันตกของนิวซีแลนด์ หมู่เกาะอ๊อกแลนด์ และหมู่เกาะทางตอนเหนือของออสเตรเลีย เป็นเวลา 3 วัน เข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องกัน ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งนี้ โดยแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์เป็นตัวเร่ง ให้เกิดการไหวที่มหาสมุทรอินเดีย เป็นลักษณะลูกโซ่ของการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากปกติแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ขึ้นไป จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงปีละครั้งเท่านั้น

พลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา จากการเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 9 ริกเตอร์นี้ มีขนาดมากกว่าพลังงานทั้งหมด ที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 เดือน หรือมากกว่า พลังงานจากพายุเฮอร์ริเคนอิสาเบลที่พัดเป็นเวลา 70 วัน หรือเป็นพลังงานที่มากพอ ที่จะต้มน้ำเดือดปริมาณ 5,000 ลิตร แจกจ่ายให้กับคนทั้งโลกได้

ผลจากแผ่นดินไหวนี้ อาจทำให้การหมุนรอบตัวเองของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยทำให้องศาการหมุนเกิดการเปลี่ยนไป หรืออีกนัยหนึ่งทำให้ความยาวของวันเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ไมโครวินาที ซึ่งอาจส่งผลให้ฤดูกาลและภูมิอากาศในอนาคต เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ด้วย

ภัยพิบัติในครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาล ประมาณว่ายอดผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ อาจสูงถึงหนึ่งแสนคน แบ่งเป็นอินโดนีเซีย 80,000 คน ศรีลังกา 30,000 คน อินเดีย 15,000 คน ไทย 3,000 คน โซมาเลีย 100 คน และประเทศอื่นๆ อีกเล็กน้อย ไม่รวมถึงความสูญเสียทางทรัพย์สินและจิตใจ เนื่องจากการขยับตัวของเปลือกโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นตามแนวยาว ของรอยเลื่อนบริเวณเกาะสุมาตรา เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอันดามัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งอันดามันของไทย ประมาณสี่ร้อยกิโลเมตร คลื่นยักษ์นี้ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงชายฝั่ง

ดังนั้น หากมีระบบการตรวจสอบแผ่นดินไหว ที่วัดได้แน่นอนชัดเจนและรวดเร็ว ผนวกกับระบบการเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ โดยทุ่นลอยในทะเล และการส่งสัญญาณเตือนภัยให้กับผู้คนที่อยู่บริเวณเสี่ยงแล้ว มหันตภัยในครั้งนี้แม้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คงช่วยลดความอเน็จอนาถ และผลกระทบต่อชีวิตผู้คนลงได้อย่างมาก

 

ปัญหาสุขภาพจิต ... ผู้ประสบภัยสึนามิ
โรคที่ควรรู้จัก และการป้องกันในระยะยาว

โดย นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มติชน 13 มค.48

โรคทางจิตเวชสองชนิด กับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

เป็นที่ทราบกันดีในวงการจิตเวชศาสตร์ว่าเหตุการณ์พิบัติภัย (disaster) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์สึนามิ หรือที่เกิดโดยมนุษย์สร้างขึ้น เช่น กรณีรถบรรทุกก๊าซพลิกคว่ำ ในกรุงเทพฯ เมื่อหลายสิบปีก่อน กรณี "9/11" ที่ตึกเวิลด์เทรดฯ โดนเครื่องบินพุ่งชนตึกก็ตามล้วนทำให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติทางจิตขึ้นได้ อย่างน้อย 2 ชนิด คือ

ชนิดที่เกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ที่เรียกว่า Acute stress disorder หรือ Acute stress reaction ซึ่งยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย อย่างเป็นทางการ แต่ผู้เขียนเคยแปลไว้ว่า "โรคเครียดเฉียบพลัน"

กับอีกชนิดหนึ่งคือ Posttraumatic stress disorder (PTSD) ซึ่งก็ยังไม่มีชื่อบัญญัติไว้เช่นกัน แต่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายอย่าง เช่น ศ.นพ.สมภพ เรืองตระกูล แปลว่า "โรคทางจิตเวชเนื่องจากภยันตราย" รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน แปลว่า "ความผิดปกติทางจิตใจ ภายหลังภยันตราย" แต่ผู้เขียนเคยแปลไว้ว่า "โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ"

ทั้ง 2 โรคนี้ มีอาการคล้ายคลึงกัน จะต่างกันเฉพาะที่ระยะเวลาป่วยเท่านั้น

โดยโรคแรกซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า acute คือ เฉียบพลัน หมายถึง เป็นเร็วหายเร็วคือมีอาการอย่างสั้นที่สุด เพียงแค่ 2 วัน ก็หาย อย่างนานที่สุดก็ไม่เกิน 4 สัปดาห์ และจะต้องเกิดขึ้น ภายในเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญเกิดขึ้น

กล่าวคือ ถ้าพ้นวันที่ 27 มกราคม 2548 ไปแล้ว ไม่พบใครป่วยอีก ก็ถือว่า ปลอดจากโรคเครียดเฉียบพลันนี้

แต่ในกรณีของโรคเครียด ภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะจะมีผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่จะมีอาการป่วยปรากฏให้เห็นช้ามาก (with delayed onset)

คือ กว่าจะปรากฏอาการ ก็ผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้วถึง 6 เดือน !

อาการของสองโรคนี้ มีอย่างไร

ผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้ ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน กล่าวไว้ว่า จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนอื่น หรือเกือบจะสูญเสียชีวิตของตนเอง หรือของคนอื่น หรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง แล้วผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อเหตุการณ์นั้น ด้วยความรู้สึกหวาดกลัวอย่างสุดขีด หรือประหวั่นพรั่นพรึง หรือรู้สึกช่วยตัวเองไม่ได้

และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเฉยเมย อารมณ์เย็นชา การรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมลดลง จนดูเหมือนคนงุนงง รู้สึกเหมือนสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป รู้สึกเหมือนตัวเองเปลี่ยนไป จำเหตุการณ์ที่สำคัญ ในขณะเกิดเหตุสะเทือนขวัญนั้นไม่ได้

ที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นอาการเฉพาะของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ คือ การที่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น กลับเกิดขึ้นมาอีก (reexperiencing of traumatic event) เกือบทุกวัน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเช่น คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ฝันถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ หรือเกิดความทุกข์ เมื่อได้เผชิญกับสิ่งที่เตือนความจำ ให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาอีก (exposure to reminders)

ผู้ป่วยจึงพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ไปกระตุ้นเตือน ให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น และมีอาการวิตกกังวลอย่างมาก หรือรู้สึกผวาตกใจง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแสดงออกมาด้วยอาการต่างๆ ได้แก่ นอนหลับยากหรือนอนไม่ค่อยหลับ สมาธิลดลง หงุดหงิดกระวนกระวาย หรือฉุนเฉียวโกรธง่าย

โดยที่อาการดังกล่าวข้างต้นนี้จะเป็นมาก จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงาน หรือใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ เช่นเมื่อก่อนป่วยอีก

โรคนี้พบบ่อยไหม ... เป็นแล้วหายหรือเปล่า ... รักษาได้อย่างไร

ผู้เขียนเคยทบทวนระบาดวิทยาของ โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญในประเทศไทย พบว่า มีข้อมูลของบ้านเราน้อยมาก

ส่วนการศึกษาในต่างประเทศพบว่า มีความชุกของโรคแตกต่างกันไป ตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 30 เมื่อเป็นแล้วหากไม่ได้รักษา ประมาณร้อยละ 30 จะหายไปได้เอง

ร้อยละ 40 ยังคงมีอาการเล็กน้อย

ร้อยละ 20 มีอาการอยู่ปานกลาง

และร้อยละ 10 อาการยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะแย่ลง

และเมื่อติดตามไปครบ 1 ปี พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่หายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50

ผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคดีคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอยู่ไม่นานคือมีอาการน้อยกว่า 6 เดือน มีการปรับตัวได้ดี ได้รับการสนับสนุนทางสังคมอย่างเข้มแข็ง ไม่มีประวัติป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวชใดๆ มาก่อน

ส่วนการรักษานั้น หากเป็นโรคเครียดเฉียบพลัน จะเน้นที่การสนับสนุนทางด้านจิตใจ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เล่า ระบายถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองประสบ และแนะนำวิธีในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

หากเครียดมากหรือมีอาการนอนไม่หลับ อาจให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย

ส่วนในกรณีที่เป็นโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น ปัจจุบันมีรูปแบบการรักษาที่จำเพาะ ทั้งการใช้ยาและการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด ร่วมกับการได้รับความสนับสนุนทางด้านจิตใจ จากครอบครัว

และในต่างประเทศจะมีกลุ่มผู้ป่วยที่หายแล้วรวมตัวกัน คอยให้ความสนับสนุนทางด้านจิตใจแก่ผู้ป่วย และญาติที่เพิ่งเริ่มป่วยด้วย

ปัจจัยป้องกันเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรค ... แม้เจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

ปัจจุบันนี้ได้มีความสนใจกันมาก ถึงเรื่อง Resilience ซึ่ง รศ.ศิริเพิ่ม เชาวน์ศิลป์ แปลว่า "บุคลิกภาพการปรับตัวเพื่อสู่ความเป็นเลิศ" แต่ผู้เขียนแปลว่า "ความยืนหยัดในการเอาชนะความทุกข์" เพราะเชื่อว่า หากคนๆ นั้นมี Resilience จะนำไปสู่ Adversity ได้ (ผู้เขียนแปล Adversity ว่าความสามารถในการเอาชนะความทุกข์) หรือที่ Paul G.Stoltz เรียกว่า Adversity Quotient (AQ) ซึ่ง Stoltz เชื่อว่าคนเรามีเพียง IQ กับ EQ ยังไม่พอ ต้องมี AQ ด้วย เพราะเมื่อพบเหตุการณ์ ที่ทำให้ทุกข์มากๆ แล้ว คนที่มี AQ นั้นจะสามารถจัดการกับความทุกข์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าทำให้ประสบความสำเร็จ ทั้งในชีวิตและการทำงาน

ได้มีโครงการวิจัยศึกษา Resilience ใน 22 ประเทศทั่วโลก ที่เรียก Internation Resilience Research Project ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเด็กอายุ 9 ขวบไปแล้ว สามารถพัฒนา Resilience ขึ้นได้ในอัตราเดียวกับผู้ใหญ่ โดยไม่พบความแตกต่าง ระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชาย แต่เด็กหญิงจะพึ่งทักษะระหว่างบุคคลมากกว่า ขณะที่เด็กชายจะพึ่งทักษะในการแก้ปัญหามากกว่า

ปัจจุบันในต่างประเทศ จึงได้มีการคิดค้นโปรแกรม เพื่อให้พัฒนา Resilience ขึ้นในเด็ก โดยเฉพาะในเด็ก ที่ได้เผชิญกับภัยพิบัติ

บทส่งท้าย

ประเทศไทยได้พบกับพิบัติภัยมาอย่างต่อเนื่อง น้ำใจของคนไทย ต่อเพื่อนร่วมชาติในการช่วยเหลือเฉพาะหน้านั้น ได้รับความชื่นชมไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การดูแลแก้ไขและป้องกันในระยะยาว ในปัญหาสุขภาพจิต ก็ควรจะได้รับความสนใจอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

การศึกษาวิจัยถึงโรคเครียดเฉียบพลัน และโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น ควรได้รับการสนับสนุนไว้ในลำดับต้นๆ ทั้งในแง่ของระบาดวิทยา ลักษณะทางคลีนิค ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกัน

โดยเฉพาะการพัฒนาคนไทย ให้สามารถยืนหยัดในการเอาชนะความทุกข์ (Resilience) และสามารถเอาชนะความทุกข์ (Adversity) นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากพิบัติภัยใดๆ ก็ตาม

หาอ่านได้ที่ www.citydd.net

 





สำเนาคำพิพากษา พิพาทที่ดิน 8ไร่ ต.โตนด
ทองกัตอาลี (Tongkat Ali)
Distribution Center
การขอขึ้นทะเบียน อย.
เครื่องบรรจุชา-กาแฟลงซอง
รับผลิตกาแฟสำเร็จรูป 3in1
ใบเสนอราคา ป.1 Forturner 3359 พี่สมจิต
VOLVO 940
เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
VOLVO 850 specเครื่องยนต์ สมรรถนะ
VOLVO Manual 850
VOLVO 850 GLE
VOLVO 850 GLT 2.3
ประวัติรับราชการนายวรจักร พรหมมา
ประวัติเครื่องราชย์อิสรินาภรณ์
แคทองซิตี้-บ้านแฝดชั้นเดียว เอราวรรณ article
แคทองซิตี้-อาคารธุรกิจ 2 ชั้น
แคทองซิตี้-2ชั้นVshape
แคทองซิตี้-winner article
แคทองซิตี้-Golder article
แคทองซิตี้-หมู่บ้านจัดสรร บนเนื้อที่ 19 ไร่ article
โครงการ "ทวีสิน3"
โบว์ชัวร์แคทองซิตี้ article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
Link :